ผู้สูงอายุ และเทศกาลสงกรานต์ สายสัมพันธ์กันอย่างไร

ผู้สูงอายุ และเทศกาลสงกรานต์ สายสัมพันธ์กันอย่างไร ช่วงนี้ ชวนอ่าน การกำหนดให้วันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ ผูกรวมไว้กับวันขึ้นใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปีนั้นสำคัญอย่างไร มาดูประวัติ ที่มา และความสำคัญ “สงกรานต์” เป็นคำภาษาสันสกฤตแปลว่า “ผ่าน”หรือ”เคลื่อนย้ายเข้าไป” ในที่นี้หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้าย จากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ ในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้ายในช่วงเดือนอื่นๆ ถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา ตามปกตินั้น พระอาทิตย์จะย้ายจากราศีหนึ่งไปสู่อีกกลุ่มดาวหนึ่ง ตามหลักโหราศาสตร์หรือภาษาโหรเรียกว่า”ยกขึ้นสู่” ตัวอย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษ ก็คือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไปนั่นเอง ประเพณีสงกรานต์ของคนไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน สงกรานต์เป็นคำที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้ แต่คำเต็มๆ คือ ตรุษสงกรานต์ โดย ตรุษ แปลว่า ตัด หรือ ขาด หมายถึง ตัดปี ขาดปี หรือสิ้นปี ดังนั้น ตรุษ จึงหมายถึงพิธีแสดงความยินดีที่ปีเก่าผ่านไปการมีชีวิตรอดมาตลอดปีได้ ก็มีการแสดงความยินดี คนไทยแต่ก่อนนับเดือน 4 วันแรม 14 ค่ำ แรม 15 ค่ำ และวันขึ้น 1 ค่ำ ของเดือน 5 จะมีการนิมนต์พระมา สวด และมีการทำบุญ ถวายอาหารและขอพรจากพระ เพื่อเป็นสวัสดิมงคล สันนิฐานว่าคนไทยรับการนับถือพระพุทธศาสนา เลยทำแบบอย่างพิธีทำบุญวันตรุษตามแบบอย่างของลังกามาด้วย วันปีใหม่จะเป็นวันที่ 13,14 และวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ดังนั้น จึงได้กำหนดให้วันสงกรานต์ และวันผู้สูงอายุ ผูกรวมไว้กับวันขึ้นปีใหม่ไทย หรือวันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ส่วนของวันผู้สูงอายุนั้น มีประวัติและความเป็นมาจากคณะกรรมการอำนวยการวันอนามัยโลกของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติให้ใช้ คำขวัญเป็นภาษาไทย ว่า “ให้ความรัก พิทักษ์อนามัย ผู้สูงวัยอายุยืน” ในขณะที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญภาษาอังกฤษว่า Add life to years ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งถือว่าเป็นปีรณรงค์เพื่อส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ซึ่งทางองค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลีย และได้ให้ความหมายของคำว่า ” ผู้สูงอายุ ” ว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการศึกษา และด้านการพัฒนา ในประเทศไทยที่สมัยรัฐบาลในสมัย พล.เอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ เพราะเห็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะให้ลูกหลานได้กลับมารวมตัวกันในวันสำคัญเช่นนี้ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2525 อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุ เพราะนอกจากเป็นวันสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยแล้ว ยังถือเป็นเสมือนวันรวมญาติ ซึ่งรัฐบาลเองก็มองเห็นความสำคัญ และความสอดคล้องกัน ทำให้กำหนดวันสงกรานต์นี้ เป็นวันผู้สูงอายุด้วยและได้เลือก “ดอกลำดวน” เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ เนื่องจากดอกลำดวนเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็น ลำต้นมีอายุยืน มีใบเขียวตลอดปี ให้ร่มเงาดีและดอกมีสีนวล กลิ่นหอม กลีบแข็งไม่ร่วงง่าย เหมือนกับผู้ทรงวัยวุฒิ ที่คงคุณธรรมความดีงามไว้ให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานตลอดไป และต้นลำดวนเป็นพืชยืนต้นที่มีอยู่มากในสวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประการสำคัญ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงดำริให้จัดสวนนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้สูงอายุอีกด้วย เล่ากันว่าครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราฯ บรมราชชนนีหรือสมเด็จย่าของชาวไทย เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชาวศรีสะเกษ เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นดอกลำดวนบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมโชยชื่น ก็ทรงพอพระราชหฤทัยมาก ดอกลำดวนจึงกลายเป็นเครื่องหมายของคนสูงอายุนับแต่นั้น เมื่อเห็นประโยชน์ทางการแพทย์ของลำดวนแล้ว ก็นับว่าเหมาะจะเป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงวัยจริงๆ เพราะดอกลำดวนตากแห้งมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจและกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือด รวมทั้งช่วยกระชับกล้ามเนื้ออีกด้วย ถือว่ามีสรรพคุณในทางบำรุงกำลัง เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ร่างกายสดชื่นอ่อนเยาว์อยู่เสมอ ดอกลำดวน ผู้สูงอายุ แม้จะเป็นวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น “ไม้ใกล้ฝั่ง” แต่ “ผู้สูงอายุ” ทั้งหลายคือผู้สร้างประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของครอบครัวที่ไม่ควรจะละเลย ยังนับเป็นประชากรที่มีสัดส่วนมาก ทั่วโลกจึงพากันรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ด้วยการกำหนด “วันผู้สูงอายุ” ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้บรรดาลูกหลานทั้งหลายหันมอง และเอาใจใส่ผู้สูงอายุที่เป็นคนใกล้ตัว ดังนั้นในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่านอกจากจะทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าตามวิถีชาวพุทธแล้ว กิจกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของวัน ก็คือการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือนั่นเอง ประเพณีรดน้ำไหว้ผู้ใหญ่ เป็นประเพณีของไทยอันสืบเนื่องมาจากประเพณีงานสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย ที่แสดงออกถึงความเคารพนบนอบต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือและผู้มีพระคุณ เพื่อแสดงความกตัญญูพร้อมกับการขอขมา และขอรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเนื่องในวันสำคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ของไทยในเดือนเมษายน “การดำหัว” ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางเหนือการดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง เช่น พ่อเมือง เจ้าเมือง เป็นต้น เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไป หรือการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ สิ่งที่ต้องนำไปในการรดน้ำดำหัวก็คือ น้ำใส่ขันเงินใบใหญ่ ในน้ำใส่ผักส้มป่อย โปรยเกสรดอกไม้และเจือน้ำหอม น้ำปรุงเล็กน้อย พร้อมด้วยพานข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องสักการะอีกพานหนึ่ง การรดน้ำดำหัวมักจะไปกันเป็นหมู่ โดยจะถือเครื่องที่จะดำหัวไปด้วย ดังนั้นวันสงกรานต์ จะให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมาก มีอะไรบ้าง สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการให้เวลาแก่ท่าน ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กัน อาจหาของขวัญชิ้นพิเศษในการแสดงความรัก… อะไรที่ท่านอยากได้มานานแล้ว หรืออะไรที่เราคิดว่าอยากให้ท่านได้ใช้ ก็นำมามอบให้ในวันนี้ จะสร้างความประทับใจได้มาก รดน้ำดำหัวขอพร แสดงความรักและเคารพแก่ท่าน ผู้มีพระคุณและดูแลเรามาตลอด พรจากพระในบ้านเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าใคร หากเป็นสายออกกำลังกาย ชวนกันไปออกกำลังกายนอกบ้าน เดินเบา ๆ ระหว่างนั้นก็ถามสารทุกข์ชีวิตความเป็นอยู่ หรือปรึกษาเรื่องต่างๆ ไปด้วยก็ได้ ได้ทั้งสุขภาพ ได้ทั้งความเข้าใจกัน หากท่านเป็นสายสนุกสนาน ก็ชวนกันไปร้องคาราโอเกะด้วยกัน หรือออกสเต็ปเต้นรำได้ด้วยหากท่าน ๆ ชอบ หาการละเล่นอะไรแบบเด็กๆ ย้อนวัย เล่นด้วยกันที่บ้านได้ แต่สำหรับปีนี้ที่โควิด 19 กำลังระบาดรอบสาม การจะมีกิจกรรมแบบเดิมคงจะไม่ปลอดภัยทั้งผู้สูงอายุและลูกหลาน เราจึงควรมีแนวปฏิบัติที่มีความปลอดภัยกับทุกคน ลูกหลานที่อยู่ไกลกับบ้านผู้สูงอายุ ไม่ควรเดินทางไปหากัน แต่ควรปลี่ยนมาเป็นให้แสดงความกตัญญูทางไกล เช่น โทรศัพท์คุยกัน คุยผ่านสื่อโซเซียลมีเดียในลักษณะเห็นหน้าผ่านทางวิดีโอคอล ปลอดภัยทั้งครอบครัวก็อบอุ่นหัวใจไม่แพ้กัน ลูกหลานที่อยู่ใกล้กับบ้านผู้สูงอายุ ไม่แนะนำให้มีการรดน้ำดำหัว แต่ให้แสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุโดยเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ลูกหลานที่อยู่บ้านเดียวกันกับผู้สูงอายุ เลี่ยงการออกนอกบ้านเพื่อไม่เป็นพาหะนำโรคมาให้ผู่สูงอายุ ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้าน เมื่อกลับมาแล้วต้องรีบล้างมือให้สะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย เน้นล้างมือบ่อย ๆ การดูแลผู้สูงอายุช่วงเทศกาล “สงกรานต์” ควรจะปฏิบัติ โดยการงดพาผู้สูงอายุออกนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร และล้างมือหลังใช้ห้องน้ำ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก กินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว แยกสำรับอาหารและแยกของใช้จำเป็นของผู้สูงอายุ อย่าให้ปะปนกับของลูกหลาน แต่หากมีอาการผิดปกติ หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ แต่หากเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการไปนอกสถานที่หรือโรงพยาบาล แต่ควรติดต่อผ่านช่องทางสื่อสารก่อน หากสามารถสื่อสารในการรักษาเบื้องต้นหรือสั่งยาได้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการพบปะกัน