จากบทความก่อนหน้านี้ ที่ TerraBKK Research ได้นำเสนอเกี่ยวกับ โอกาสของธุรกิจ Long Stay ในยุคสังคมสูงวัย ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนของประชากรสูงอายุในประเทศไทย รวมไปถึงการที่ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งเมืองสำหรับชีวิตวัยเกษียณของชาวต่างๆชาติ (Long stay visa) ที่เป็นผลให้วงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุตื่นตัว และมีการเติบโตของจำนวน อสังหาฯผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่อง
1. บ้านเดี่ยว โครงการบ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัยนั้นยังเติบโตไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปแบบของชุมชน (Community) เสียมากกว่า เนื่องจากการพัฒนาบ้านสำหรับผู้สูงวัยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโครงการระดับพรีเมี่ยม เพราะว่าใช้เนื้อที่มากกว่าโครงการบ้านทั่วไป การออกแบบที่เฉพาะเจาะจงในด้านวัสดุ การจัดแปลนภายในและนอกบ้าน การวางระดับของเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น ทั้งนี้บ้านเดี่ยวสำหรับผู้สูงวัย จะเติบโตในรูปแบบของการปรับโครงสร้างบ้านเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นบ้านสำหรับตัวเองในวัยเกษียณ หรือบ้านสำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงวัย เป็นต้น เหมาะสำหรับครอบครัวใหญ่้ ที่มีบุคคลดูแลผู้สูงอายุในบ้าน 2. คอนโดมิเนียมหรืออาคารชุดเพื่อผู้สูงวัย เป็นที่อยู่อาศัยที่น่าจะเติบโตที่สุดในอนาคต เห็นได้ชัดจากยอดจองคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงวัยที่มีคนอายุ 55 ปีขึ้นไป แห่มาจองกันอย่างรวดเ็ร็ว เหตุผลที่ผู้สูงวัยควรอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมนั้นมีด้วยกันหลายประการ เนื่องจากคอนโดมิเนียมเป็นที่พักอาศัยแบบ compact ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมอยู่แล้ว ทั้งในด้านทำเล บริการ และความปลอดภัย เป็นต้น คอนโดส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้พื้นอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ไม่เป็นอันตรายและตรงกับหลักการออกแบบที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ พื้นที่ส่วนกลางก็เป็นสวนหย่อมหน้าบ้า่นสำหรับหย่อนใจ ในกรณีที่อุปกรณ์ในห้องชำรุดก็มีช่างประจำโครงการหรือนิติบุคคลคอยดูแล และศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งของคอนโดมิเนียมที่ไม่ไกลจากสถานที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาล คอนโดมิเนียมจึงเป็นอีกหนึ่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่ไม่มีครอบครัว ไม่ได้อยู่แบบครอบครัวใหญ่ ต้องการอยู่ใกล้กับลูกหลานในเมือง และสามารถดูแลตัวเองได้ในเบื้องต้น สำหรับคอนโดเพื่อผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ควรพิจารณาเลือกคอนโดที่มีเจ้าหน้าที่การพยาบาลดูแลตลอดเวลา และมีระบบการเชื่อมต่อระหว่างห้องเจ้าหน้าที่พยาบาลและห้องพักในกรณีฉุกเฉิน 3. สถานรับดูแลผู้สูงอายุหรือสถานบริบาลผู้สูงอายุ (Nursing Home) อีกหนึ่งประเภทของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เติบโตขึ้นจนเห็นได้ชัดในยุคนี้ ในปัจจุบันเกิดขึ้นแล้วกว่า 60 แห่ง โดยจะอยู่บริเวณในเมืองใหญ่ที่ใกล้สถานพยาบาล โดยจะมีการให้บริการทางการแพทย์ สุขภาพ และการดูแล เพื่อผู้สูงวัยที่มีอาการป่วยไม่มากนัก แต่ไม่สามารถอาศัยลำพังอยู่ที่บ้านได้ มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษาทางการพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง 4. เซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ (Service Apartment) โดยส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยโรงพยาบาล โดยจะมีทำเลติดอยู่กับโรงพยาบาล เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยที่ต้องพักอาศัยในระยะยาวและเข้ารับการรักษาจากโรงพยาลอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มลูกค้าหลักมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เช่นประเทศญี่ปุ่น ที่เข้าสู่ในยุคสังคมสูงวัยสุดยอดเต็มรูปแบบ และนิยมเข้ามาพักรักษาตัวในประเทศไทย 5. บ้านพักหรือสถานสงเคราะห์คนชรา (Residential Home) เกิดขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันมีทั้งหมด 44 แห่งทั่วประเทศ โดยดำเนินการภายใต้หน่วยงานทางราชการ ให้บริการที่พักสำหรับคนชราที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แต่ไม่มีคนดูแลและยากจน โดยไม่มีความต้องการการดูแลจากพยาบาลวิชาชีพมากนัก นอกเหนือไปจากอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงวัยแต่ละประเภทที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว ควรพิจารณาในด้านการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยโดยเฉพาะควบคู่กันไปด้วย โดยมีหลักการพิจารณาการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัยที่เหมาะสม 10 ข้อด้วยกัน คือ
- ภายนอก - ควรใช้วัสดุที่ไม่ต้องการการดูแลรักษามาก มีพื้นที่สีเขียวที่ไม่จำเป็นต้องตัดหรือคอยดูแลตลอดเวลา และพื้นของระเบียงหรือชาน ควรไม่ต่างระดับจากพื้นบ้าน
- แปลน - พื้นที่ใช้สอยหลักไม่ควรอยู่ชั้นสอง หรือพื้นที่ที่เข้าถึงลำบาก พื้นห้องควรอยู่ระนาบเดียวกัน ไม่มีพื้นต่างระดับ และแต่ละห้อง ควรกว้างกว่าพื้นที่ปกติอย่างน้อย 4 ตารางเมตร เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น
- ทางเชื่อมภายใน - ประตูควรกว้างกว่าปกติ มีช่องทางเดินไปในบ้านที่ง่ายและกว้าง สามารถเเชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆของบ้านได้ หรือไม่ควรกั้นผนังหากเป็นพื้นที่ใช้สอยส่วนรวม มีแสงไฟส่องสว่างเพื่อให้เห็นชัดเจน
- ธรณีประตู - ไม่ควรมี หรือหากมีไม่ควรสูงเกิน 0.5 นิ้ว มีขอบลาดเอียง และควรเป็นประตูบานเลื่อน
- หน้าต่าง - หน้าต่างแบบสวิงหรือบ้านเลื่อนที่ใช้งานง่าย ไม่ควรเป็นบานเกล็ด และควรมีหน้าต่างมากเพื่อให้มีแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าถึงตลอดเวลา
- ที่จอดรถ - ควรมีหลังคา ขนาดของช่องจอดควรกว้างกว่าปกติ เพื่อรองรับการใช้งานรถเข็น
- ก้อกน้ำ - ควรเป็นก็อกแบบโยกหรือสามารถควบคุมด้วยเท้า มีระบบควบคุมความร้อนของน้ำ และสามารถควบคุมความดันน้ำได้
- ปลั๊กไฟ - ควรสูงกว่าปกติอย่างน้อย 90 ซม. เพื่อป้องกันการก้มตัวและสะดวกแก่ผู้ใช้งานรถเข็น
- โต๊ะ เคาน์เตอร์ ชั้นวางของ - ควรลดระดับจากความสูงปกติให้สูงประมาณ 75 เซ็นติเมตร พื้นที่ใต้โต๊ะควรสูงไม่ต่ำกว่า 60 เซ็นติเมตร ไม่ควรมีลิ้นชัก
- ติดตั้งราวจับและระบบ Emergency - ราวจับทั้งในห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ ห้องนอน ควรอยู่ในระดับ 80-90 เซ็นติเมตร สามารถรองรับน้ำหนักได้ และควรติดตั้งเครื่องส่งสัญญานขอความช่วยเหลือในพื้นที่ห้องนอน หัวเตียง ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น หรือห้องที่มีการใช้งานบ่อยครั้ง
บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ
TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก